Thai  Thai

ประวัติจังหวัดตราด

ประวัติจังหวัดตราด

คำขวัญ

" เมืองเกาะครึ่งร้อย  พลอยแดงค่าล้ำ  ระกำแสนหวาน  หลังอานหมาดี  ยุทธนาวีเกาะช้าง  สุดทางบูรพา "

วิสัยทัศน์

“ตราดเมืองสวรรค์แห่งตะวันออก  ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพ   การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ระดับนานาชาติ ความร่วมมือทางสังคมและเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยั่งยืน”


ประวัติความเป็นมา

เมืองตราด สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า “กราด” ที่เป็นชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ใช้ทำไม้กวาด ต้นไม้ชนิดนี้มีขึ้นอยู่รอบเมืองตราด ซึ่งในสมัยนั้นมีต้นกราดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่พอถึงในสมัยกรุงศรีอยุธยา รัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองตราดมีชื่อในขณะนั้นว่า “บ้านบางพระ”จังหวัดตราด หรือเมืองทุ่งใหญ่ปรากฏชื่อในทำเนียบหัวเมืองสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. 2178) ว่าเป็นหัวเมืองชายทะเล สังกัดฝ่ายการต่างประเทศ ซึ่งเกี่ยวข้องกับด้านการคลัง ตราดเป็นหนึ่งในเมืองท่าชายทะเล ที่มีชัยภูมิเหมาะกับการแวะจอดเรือเพื่อขนถ่ายซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า เติมเสบียงอาหาร น้ำจืดบริเวณอ่าวเมืองตราด จึงเป็นแหล่งที่ตั้งชุมชนพ่อค้าชาวจีนที่เดินทางเข้ามาค้าขาย

ตราดนับเป็นเมืองศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงปลายอยุธยา สินค้าที่ส่งออกขายยังแดนไกล โดยเฉพาะของป่า เช่น เขากวาง หนังสัตว์ ไม้หอม และเครื่องเทศต่าง ๆ ล้วนมาจากเขตป่าเขาชายฝั่งทะเลตะวันออก แถบระยอง จันทบุรี ตราด โดยลำเลียงสินค้าผ่านมาตามแม่น้ำเขาสมิง ออกสู่ปากอ่าวตราด 
เมื่อครั้งสงครามกู้เอกราชสมเด็จพระเจ้าตากสินทรงเลือกตราดเป็นเมืองหน้าด่านกันชน ทำหน้าที่ส่งเสบียงอาหารก่อนเคลื่อนกองทัพเรือออกจากจันทบุรี

ในสมัยรัชการที่ 1 เมืองตราดยังเป็นเมืองท่าสำคัญแห่งหนึ่งเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา

ในสมัยรัชกาลที่ 3 ไทยทำศึกกับเจ้าอนุวงศ์ เมืองเวียงจันท์ซึ่งต่อมาหันไปสวามิภักดิ์กับญวน ไทยกับญวนผิดใจกันจนต้องทำสงครามกันในปี พ.ศ. 2371 ตราดเป็นแหล่งกำลังพล และเสบียงอาหารมีการตั้งป้อมค่ายอยู่ที่บ้านแหลมหิน ปากอ่าวเมืองตราด



สภาพทั่วไป


จังหวัดตราด เป็นจังหวัดสุดท้ายที่ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก ตั้งอยู่ระหว่างละติจูด(เส้นรุ้ง)ที่ 11 องศา 34 ลิบดา กับละติจูดที่ 12 องศา 45 ลิบดาเหนือ และเส้นลองติจูด(เส้นแวง)ที่ 102 องศา 15 ลิบดา ถึง 102 องศา 55 ลิบดาตะวันออก มีพื้นที่ทั้งหมด 2,819 ตารางกิโลเมตร หรือ 1,761,875 ไร่ คิดเป็นเนื้อที่ประมาณร้อยละ 0.42 ของพื้นที่ประเทศ และร้อยละ 7.72 ของภาคตะวันออก มีขนาดพื้นที่เป็นอันดับที่ 56 ของประเทศ ตัวจังหวัดตราดอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ตามเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)เป็นระยะทางประมาณ 385 กิโลเมตร หรือตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 37 (สายบางนา-ชลบุรี-บ้านบึง-แกลง-จันทบุรี-ตราด) เป็นระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร



ภูมิประเทศ

จังหวัดตราด เป็นจังหวัดชายแดนติดต่อกับประเทศกัมพูชา มีทิวเขาบรรทัดยาว156 กิโลเมตรเป็นพรมแดนด้านตะวันออก ด้านตะวันตกมีชายฝั่งทะเลยาว 156.5 กิโลเมตร มีเกาะ 52 เกาะ เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุด (มีเนื้อที่ 650 ตารางกิโลเมตร) สภาพพื้นที่โดยทั่วไปมีความยาวมากกว่าความกว้าง ตอนบนและตอนกลางมีความยาวใกล้เคียงกัน 

ตอนใต้มีลักษณะเรียวทอดยาวลงไป จังหวัดตราดมีสัณฐานคล้ายหัวช้าง ส่วนกว้างที่สุดของจังหวัด จากตำบลแสนตุ้ง อำเภอเขาสมิง ถึงแนวเทือกเขาบรรทัด ตำบลท่ากุ่ม อำเภอเมืองตราดเป็นระยะทาง 49 กิโลเมตรส่วนที่ยาวที่สุดจากทิศเหนือของตำบลหนองบอน อำเภอบ่อไร่ ถึงตอนใต้สุดของตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ เป็นระยะทางประมาณ125 กิโลเมตร และส่วนที่แคบที่สุดวัดจากบ้านโขดทราย ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จากฝั่งทะเลตะวันตกถึงแนวเทือกเขาบรรทัดมีระยะเพียง 500 เมตร 
จังหวัดตราดมีภูมิประเทศคล้ายคลึงกับจังหวัดใกล้เคียง เช่น จันทบุรี ระยอง ชลบุรี เป็นต้น พื้นที่มีลักษณะเป็นลูกคลื่นหรือลูกฟูก และเนินเขาเตี้ยๆ ทางตอนบนของจังหวัดเป็นภูเขาและที่สูง ในตอนกลางมีที่ราบแคบ ทางตอนบนบางแห่งและชายฝั่งทะเลตอนใต้ช่วง เทือกเขาบรรทัดติดกับจังหวัดจันทบุรี เป็นเทือกเขาหินแกรนิตมีความแข็งแกร่ง

ภูมิอากาศ

จากการที่หมู่เกาะช้างเป็นเกาะซึ่งมีทะเลล้อมรอบทำให้อุณหภูมิบริเวณเกาะ ช้างเหมาะแก่การพักผ่อน คือ ไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป สำหรับอิทธิพลจากมรสุมนั้น เกาะช้างได้รับอิทธิพลทั้งจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ จากอิทธิพลดังกล่าวทำให้เกิดข้อจำกัดในการเดินทางด้วยเรือบริเวณเกาะช้างคือ ในช่วงฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ประมาณเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม ชายฝั่งด้านตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับลมจะเป็นคลื่นลมแรง ไม่สามารถเดินทางด้วยเรือได้ หลังเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่มีคลื่นน้อยที่สุด ฉะนั้นการเดินทางไปเกาะช้าง หรือหมู่เกาะต่างๆ ค่อนข้างจะสะดวก พื้นที่บางส่วนของจังหวัดเป็นเกาะอยู่ในทะเลอ่าวไทยโดยส่วนมาก ทำให้ตราดมีทรัพยากรทางการท่องเที่ยวทางทะเลอยู่มากโดยมีเกาะถึง 52 เกาะ

สภาพภูมิอากาศ จังหวัดตราดมีอากาศไม่ร้อนจัด หรือหนาวจนเกินไป แต่มีฝนตกชุกมาก เพราะมีพื้นที่ติดทะเลและภูเขาโอบล้อม จึงทำให้รับอิทธิพลของลมมรสุม แบ่งออกเป็น 3 ฤดู

ฤดูหนาว เป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ ช่วงเดือนพ.ย.-ก.พ. อากาศไม่หนาวมากนัก อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส

ฤดูร้อน เป็นช่วงระหว่างเดือน มี.ค.-เม.ย. อุณหภูมิโดยเฉลี่ยไม่เกิน 34 องศาเซลเซียส

ฤดูฝน เกิดจากอิทธิพลลมมรสุมตัวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลอ่าวไทย ในช่วงเดือน พ.ค.-ต.ค ของทุกปี ทำให้มีฝนตกชุกในเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉลี่ยจะมีปริมาณน้ำฝน 4,000 มม.ต่อปี


Thai